"วิถีชีวิตชุมชนไทยเบิ้ง" ลมหายใจ "ตำราประสบการณ์"
เยี่ยมชม ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ผ่านกิจกรรม “กระเตงลูกเที่ยว”
อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.30 น.
“สนุกมาก แถมได้ความรู้ ไม่เพียงแต่ลูก ๆ จะได้ประสบการณ์ใหม่ แต่พ่อแม่อย่างเราก็ยังได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปพร้อมกันด้วย” เสียงจาก ธชย วชิราดิศัย ซึ่งได้พาภรรยาและลูก เยี่ยมชม ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี บอกเล่าความรู้สึกให้ฟัง โดยครอบครัวนี้เป็นตัวอย่างครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่เลือกใช้เวลาในช่วงวันหยุดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ผ่านกิจกรรม “กระเตงลูกเที่ยว” ขณะที่ “วิถีชีวิตชุมชนไทยเบิ้ง” นี่ก็นับว่าน่าสนใจ...
“แต๊ก...แต๊ก...แต๊ก...” เสียงรถอีแต๋น หรือ รถอีแลนแตน ที่ชาวบ้าน ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง นิยมเรียกกัน ทำหน้าที่พาสมาชิกจากหลายครอบครัวรวมแล้วกว่า 50 ชีวิตเยี่ยมชมพื้นที่ชุมชน เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้าด้วยกี่โบราณ การทอเสื่อการสานของเล่นจากใบลาน และการทำขนมเบื้องโบราณสไตล์ไทยเบิ้ง โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “มนต์เสน่ห์ไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง วิถีวัฒนธรรมลุ่มน้ำป่าสัก” จัดโดยชุมชนออนไลน์ชื่อ “กระเตงนอกกรุง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์
จุดหมายแรกที่เยี่ยมชม คือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ซึ่งเป็นเรือนไทยที่ได้มีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ “วิถีชีวิตของผู้คน” ที่นี่ รวมถึงประวัติความเป็นมาของ “ชาวไทยเบิ้ง” โดยมี คุณลุงคุณป้าชาวไทยเบิ้ง ทำหน้าที่เป็น “ไกด์กิตติมศักดิ์” ที่มีกิจกรรมเรียกความสนุกจากเด็ก ๆ ได้อย่างดี กับการตัดกระดาษเพื่อทำให้เป็น“พวงมโหตร” ซึ่งคนยุคนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็นกันแล้ว โดยพวงมโหตรที่ว่านี้มักจะใช้ตกแต่งสถานที่ในพิธีมงคล ทั้งนี้ จากจุดนี้สมาชิกร่วมทริปกว่า 50 ชีวิตก็นั่งรถอีแลนแตนไปที่สถานีรถไฟโคกสลุงเพื่อขึ้นรถไฟลอยน้ำไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อนตบท้ายกิจกรรมด้วยอาหารพื้นบ้านสไตล์ไทยเบิ้งที่ปรุงจากวัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งมีเมนูเด่นคือ “พริกตะเกลือ” ที่เป็นเครื่องเคียงทานคู่กับข้าว มีอยู่ในสำรับอาหารชาวไทยเบิ้ง
พ่อมืด-ประทีป อ่อนสลุง คณะทำงานศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิ้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นสถานที่เรียนรู้ภูมิปัญญาว่า ชุมชนเริ่มทำงานเรื่องวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี 2542 โดยตั้งต้นที่พิพิธภัณฑ์ก่อน แล้วจึงร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรพิพิธภัณฑ์จะไม่เป็นเพียงแค่สถานที่เก็บของเก่า ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิต จึงเปิดให้คนในชุมชนที่อยากทำกิจกรรมมาใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่จัดกิจกรรม และตัวแทนชุมชนคนเดิมยังบอกอีกว่า ชุมชนและผู้คนก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ด้วย จึงคิดที่จะทำให้ชุมชนไทยเบิ้งกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” มี “คนเฒ่าคนแก่” ทำหน้าที่เป็น “วิทยากรภูมิปัญญา” เพื่อให้ความรู้...
พ่อมืดเล่าอีกว่า ช่วงระหว่างปี 2557-2558 ทางชุมชนก็ได้ขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ โดยมีหลาย ๆ ภาคีเข้ามาช่วย เช่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาช่วยทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่าง “คุณค่า” กับ “มูลค่า” นอกจากนั้น ทางชุมชนก็ยังได้มีการจัดทำ เฟซบุ๊กเพจชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ขึ้นเพื่อสื่อสารกับสังคมภายนอกด้วย...
“ความสมดุลระหว่างคุณค่ากับมูลค่า ทำให้มีรายได้หล่อเลี้ยงไปพร้อมกับการที่ชุมชนยังคงรักษาคุณค่าในตัวของชุมชนเองเอาไว้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากครอบครัวที่ได้มาเที่ยวที่นี่” พ่อมืด-ประทีบ ระบุ
ด้าน ธชย และ พิชชิตา วชิราดิศัย คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกสาวมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรก บอกเล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ร่วมกิจกรรม แล้วเป็นจังหวัดที่ไม่เคยมาด้วย จึงอยากพาลูกสาวมาเจออะไรใหม่ ๆ ด้วยกัน และพวกเขาเองก็อยากรู้ด้วยว่าที่นี่มีอะไรบ้าง ซึ่งจากที่ได้เข้าร่วมก็ทำให้แปลกใจ เพราะไม่คิดว่าอำเภอเล็ก ๆ จะซ่อนอะไรไว้เยอะแยะมาก มีทั้งวัฒนธรรม มีทั้งชาวบ้านที่น่ารัก และมีกิจกรรมให้ทำเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม นอกจากความสนุกแล้ว ทางครอบครัวนี้ยังบอกว่า นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้โลกกว้างแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ฝึกทักษะชีวิต และกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ ศราวิน ปัญจะผลินกุล ที่พาลูกมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้เช่นกัน บอกว่า ถ้าเรามองแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง แล้วอ่านแต่หนังสือ อาจทำให้ลูกตกหล่นบางอย่าง เพราะมีเรื่องราวมากมายนอกตำราเรียนที่จะช่วยเสริมสร้างความคิดใหม่ ๆ ให้เด็ก ๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า เด็กสมัยใหม่อาจขาดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ และจินตนาการ ผู้เป็นพ่อแม่จึงควรช่วยเติมในส่วนนี้
“การทำกิจกรรมร่วมกันช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดี เพราะพ่อแม่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก เขาไม่รู้อะไร ก็ถามเราทันที ถ้าเราเรียนรู้ไปพร้อมเขา ลูกก็จะเชื่อใจเรามากขึ้น” คุณพ่อรายนี้ระบุ ...ซึ่ง “วิถีชีวิตชุมชน” ก็เป็นกลไกช่วยในจุดนี้
ส่วนคุณแม่อย่าง นัทธ์หทัย นาวานุเคราะห์ ที่พาลูกสาววัยประถมเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้หลายครั้งแล้ว เล่าว่า กิจกรรมแบบนี้ช่วยให้ได้ท่องเที่ยว แถมได้ความรู้ไปในตัวพร้อมกัน ซึ่งเวลามาทำกิจกรรมแบบนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นคือ เด็ก ๆ จะได้ฝึกการรอคอย ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น และได้เรียนรู้ประวัติ ศาสตร์ รวมถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ลูกเติบโตสมวัยและมีคุณภาพ “กิจกรรมรูปแบบนี้มีประโยชน์ และสร้างสรรค์มากค่ะ” ...คุณแม่รายนี้กล่าว
ท่ามกลาง “ฝุ่นปกคลุมเมือง” การ “หนีฝุ่น” ด้วยการออกไปทำกิจกรรมในพื้นที่อากาศบริสุทธ์ เป็นตัวอย่างน่าสนใจ ที่ไม่เพียงครอบครัวจะได้กระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ผู้เป็นพ่อแม่ก็ยังได้เห็นพัฒนาการของลูก ๆ อย่างใกล้ชิด แถมยังช่วยทำให้ลูก ๆ ได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียนจาก “ตำรามีชีวิต” อีกด้วย ซึ่งหนึ่งในตำรามีชีวิตที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีก็คือ...